อพท.พาชมเมืองโบราณ อู่ทอง



เมืองโบราณอู่ทอง


อู่ทองเมืองโบราณ ต้นกำเนิดประวัติศาสตร์ อารยธรรมสุวรรณภูมิ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สันนิษฐานได้ว่า เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรทวาราวดีและเป็นศูนย์กลางของดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ก่อนจะหลอมรวมเป็นชาติไทยในปัจจุบัน
เมืองโบราณอู่ทองตั้งอยู่ในเขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศพบว่าเมืองโบราณอู่ทองเป็นเมืองที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ ตั้งอยู่ริมลำน้ำจระเข้สามพัน ผังเมืองเป็นรูปวงรี ทอดตัวไปตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ มีขนาดความกว้างประมาณ 1 กิโลเมตร และยาวประมาณ 2 กิโลเมตร มีระดับความสูงของพื้นที่ตัวเมือง จากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 6 เมตร
จากการศึกษาทางโบราณคดีเท่าที่ผ่านมาทราบว่า เมืองโบราณอู่ทองมีมนุษย์อยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 2,500 ปี มาแล้ว โดยได้พบหลักฐานประเภทขวาน หินขัด ลูกปัด ภาชนะดินเผา เหล็กในสำหรับปั่นด้าย ขวานสำริด ฉมวก หอก และเครื่องมือเครื่องใช้โลหะอื่นๆ อีกมากมาย ชุมชนในสมัยนี้เป็นชุมชนในสังคมเกษตรกรรม เนื่องจากสภาพที่ตั้งชุมชนเป็นเขตที่ราบขั้นบันไดต่ำ และที่ราบลุ่มแม่น้ำ ทำให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ผลดี จนชุมชนตั้งหลักแหล่งได้อย่างถาวร ประกอบกับสามารถติดต่อกับชายฝั่งทะเลได้สะดวก จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชุมชนโบราณในบริเวณเมืองอู่ทองสามารถพัฒนาสภาพสังคมและเศรษฐกิจ จนขยายตัวเข้าสู่สังคมเมืองได้


เมืองโบราณอู่ทองได้มีการอาศัยมาอย่างต่อเนื่องจนสามารถพัฒนาตนเองจากสังคมเกษตรกรรมในระดับหมู่บ้านเข้าสู่สังคมเมือง (Urban society) ซึ่งมีความเจริญ และมีความซับซ้อนทางสังคมมากขึ้น และกลายเป็นเมืองศูนย์กลางทางวัฒนธรรมเมืองหนึ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จากหลักฐานประเภทโบราณวัตถุสถานที่พบในช่วงเวลาดังกล่าว ทราบว่าเมืองโบราณอู่ทอง ได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับดินแดนแถบโพ้นทะเล โดยเฉพาะอินเดีย จนทำให้นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า เมืองโบราณอู่ทอง อาจจะเป็นเมือง สุวรรณภูมิที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งพระโสณะเถระและพระอุตระเถระมาเผยแพร่พุทธศาสนา ในราวพุทธศตวรรษที่ 3
จากการที่มีการรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของอินเดียอย่างมาก จนทำให้ช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-12 ได้เกิดวัฒนธรรมที่ผสมผสานกันระหว่างรูปแบบวัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมที่มาจากกลุ่มชนภายนอก วัฒนธรรมนี้มีจุดเด่นอยู่ที่รูปแบบทางศิลปกรรมเฉพาะตัว มีการใช้ภาษามอญร่วมกัน และการนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก วัฒนธรรมทวารวดีเชื่อกันว่ามี ศูนย์กลางความเจริญตั้งอยู่บริเวณเขตที่ราบภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งมีเมืองเมืองหลัก ได้แก่ เมืองนครชัยศรี (ที่ นครปฐม) เมืองประคูบัว (ที่ราชบุรี) และเมืองอู่ทอง
ในอดีตเมืองโบราณอู่ทองได้ปรากฏแนวป้อมก่อด้วยศิลาแลง แต่ปัจจุบันสิ้นสภาพและถูกไถปรับที่เป็นถนนหมดแล้ว ทางด้านตะวันออกของเมือง (บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภออู่ทอง และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อู่ทอง) แต่เดิมเป็นแนวปราการ เช่นกัน ภายหลังแนวป้อมกำแพงที่ว่านี้ถูกรื้อทำลายออกไป เพื่อก่อสร้างถนนมาลัยแมน ปัจจุบันคูน้ำและกำแพงที่ว่านี้ถูกรื้อทำลาย และบุกรุกถมที่ดินจนตื้นเขินและขาดหายไปเป็นช่วงๆ ซึ่งจะเห็นแนวชัดเจนและมีน้ำขังตลอดปีเฉพาะด้านทิศตะวันออกเท่านั้นที่ใช้ประโยชน์เป็นที่เก็บกักน้ำ สำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค
ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองอู่ทอง ห่างออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร มีแนวสิ่งก่อสร้างด้วยดิน ที่น่าสนใจอีก 2 จุด คือ แนวคันดินเป็นทางยาวคดเคี้ยว เรียกกันว่า ถนนท้าวอู่ทองด้วยเหตุที่เชื่อกันมาแต่เดิมว่าเป็นถนนโบราณของเมืองแห่งนี้จุดหนึ่ง และกลุ่มแนวคันดินรูปโค้งเกือกม้าซึ่งตั้งอยู่ตามแนวเชิงเขาคอก ที่เรียกกันว่า คอกช้างดินเพราะเชื่อกันว่าเป็นเพนียดดินสำหรับคล้องช้างในสมัยโบราณ โบราณสถานแห่งนี้ ฝ่ายวิชาการ สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 2 สุพรรณบุรี ได้ดำเนินการขุดศึกษาทางโบราณคดีแล้ว ผลการขุดชึ้ให้เห็นว่า บริเวณนี้เป็นเขตเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ ไศวนิกาย ด้านตะวันออกซึ่งพื้นที่ลาดต่ำลงจนถึงแม่น้ำท่าจีน และต่อเนื่องไปจนถึงบริเวณซึ่งเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีหลักฐานแสดงว่า เป็นทะเลมาก่อน ข้อมูลบนภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นแนวของแม่น้ำจระเข้สามพันไหลผ่านตัวเมืองอู่ทองไปทางเหนือ แล้วอ้อมมาทางตะวันออก ซึ่งมีร่องน้ำเปิดกว้างเป็นปากแม่น้ำซึ่งกำหนดให้เป็นแนวชายฝั่งทะเลเดิม ตรงส่วนที่บรรจบกับ คลองสองพี่น้อง ซึ่งต่อเชื่อมมาจากแม่น้ำท่าว้า นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นร่องรอยของคลองเก่าขุดขึ้นเป็นแนวตรงยาวประมาณ 9 กิโลเมตร จากตัวเมืองอู่ทองจนถึงบริเวณวัดม่วงซึ่งคาดว่าจะเป็นชายฝั่ง หรืออาจเป็นร่องน้ำกว้างจากฝั่งทะเลลึกเข้ามาในแผ่นดิน ยังได้พบร่องรอยคลองอีก 2 แนว เชื่อมต่อจากแนวคลองแรกมาทางใต้จนถึงคลองบางบอน ซึ่งทำให้เชื่อว่าเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่งทะเลมีผลทำให้มีการขุดคลองใหม่ลงมาทางใต้ เพื่อเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลและเมืองชายฝั่งทะเลถอยห่างออกไปมาก คลองเหล่านี้ก็เลิกใช้ไปในที่สุด

         

การศึกษาการต่อเชื่อมของลำน้ำจระเข้สามพัน และแนวคูคันดินที่บ้านดอนทองและบ้านจระเข้สามพัน คูคันดินดังกล่าว ปรากฏให้เห็นชัดบนถนนมาลัยแมน ร่องรอยที่ปรากฏให้เห็นบนภาพถ่ายทางอากาศเป็นหลักฐานชัดเจนว่าคลองจระเข้สามพันนั้นแต่เดิมไหลผ่านมาทางเส้นทางที่ผ่านเมืองอู่ทอง แต่ต่อมาทางน้ำได้เปลี่ยนทางเดินลงมาทางใต้ตามแนวคลองหางตลาด การขุดคูคัดดินกั้นน้ำที่ทางตะวันออกของบ้านคอนทองดังกล่าวได้บังคับให้น้ำไหลกลับมาทางแนวแม่น้ำจระเข้สามพันที่ไหลผ่านเมืองอู่ทองตามเดิม การขุดกั้นดินคาดว่าคงจะทำขึ้นภายหลังที่แม่น้ำเปลี่ยนทางเดิน ดังจะเห็นได้จากการมีคันดินรอบชุมชนแบบเหลี่ยมมุมรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 340 x 340 เมตร สร้างขึ้นทางด้านตะวันออก ซึ่งเป็นบริเวณรับน้ำได้จากคูคลองดังกล่าวและการสร้างคูคันดินบริเวณเมืองอู่ทอง
ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศและสำรวจสภาพภูมิศาสตร์ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเล ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเดินของแม่น้ำจระเข้สามพัน และการเปลี่ยนแปลงแนวคลองในการติดต่อกับภายนอกทางฝั่งทะเลของเมืองอู่ทอง และเป็นร่องรอยที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของคนเมืองอู่ทองในอดีต ได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เป็นผลมาจากการถอยตัวของน้ำทะเล และเมื่อทะเลถอยออกไปมากขึ้นจนไม่สะดวก หรือเกินกว่าจะแก้ไขได้ เมืองอู่ทองก็หมดความสำคัญในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 พร้อมๆ กับการสิ้นสุดลงของยุคสมัยทวารวดี ซึ่งต่อมาเมืองโบราณอู่ทองก็ถูกทิ้งร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 19 โดยเมืองสุพรรณบุรีเจริญขึ้นมาแทนที่ ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

การดำเนินงานอนุรักษ์โบราณสถาน และแหล่งโบราณคดีในเขตเมืองโบราณอู่ทองหลังจากที่เมืองโบราณอู่ทองได้ร้างไปเมือในราวพุทธศตวรรษที่ 19 เมืองโบราณอู่ทองก็ลดความสำคัญลงไป จนเมื่อ พ.ศ. 2446 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จสำรวจเมืองโบราณอู่ทอง และเผยแพรความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของเมืองโบราณอู่ทองจนเป็นที่รู้จักกันไปทั่วในวงวิชาการ เมืองโบราณอู่ทองจึงได้รับความสนใจขึ้นมาอีกครั้ง ในฐานะเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งของประเทศไทย

สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 2 สุพรรณบุรี

เมืองโบราณอู่ทอง

อะไรที่ยืนยันว่า อู่ทองคือจุดนัดพบนานาชาติ และเส้นทางการค้าตะวันออก-ตะวันตก?

มีร่องรอยการตั้งชุมชนเล็กๆ อยู่มากมาย ชุมชนเหล่านั้นศึกษาจากหลุมศพ เห็นการเข้ามาของวัตถุที่เป็น trade item คือที่เป็นสินค้า เช่น ลูกปัดขนาดใหญ่ และมีความหลากหลายชนิด แสดงถึงการค้าขาย มีการพัฒนาตั้งแต่ยุคเหล็ก เข้าสู่ยุคตอนปลายๆ มีการติดต่อจนเป็นเมืองท่า เส้นทางการค้าทางทะเลเข้ามายุคพุทธศตวรรษที่ 5-6 ถือเป็นการเดินทางยุคสายไหม ทางทะเล อู่ทองเป็นเมืองท่าสำคัญที่ติดต่อไปจีน เวียดนาม อู่ทองพัฒนามาเรื่อยจนถึงยุคฟูนัน อู่ทองเป็นเมืองร่วมสมัย เมืองท่า

มีการขุดพบจารึกปุษยคีรี มันคืออะไร? และแสดงถึงอะไร?

คำว่า ปุษยคีรี สะท้อนให้เห็นถึงการอ้างอิงชื่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ตรงนั้นเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ มีหลักฐานสอดคล้องกับการที่ส่งพระโสนะอุตตระเข้ามา เมื่อเข้ามาแล้วผ่านจุดนี้ ก็เป็นจุดศักดิ์สิทธิ์ เข้าใจว่าการสร้างพระบรมธาตุคือการเผยแผ่พุทธศาสนา พอเข้าก็นำเอาชื่อนี้ไป ตอนเอาเข้ามาก็เอามาฝังไว้ที่เมืองอู่ทอง จะเป็นพระโสนะอุตตระหรือไม่ ไม่ทราบ! แต่สันนิษฐานว่าเป็นการฝังเพราะมีเพิงหิน จึงเป็นจุดศักดิ์สิทธิ์เพราะมีการฝังพระบรมธาตุ เป็นเจดีย์เล็กๆ ซึ่งหายไปแล้ว ไปครั้งนี้เราก็จะสื่อให้เห็นว่ามันมีจุดสำคัญอยู่ แล้วก็บริเวณเขาพระก็เหมือนกัน มีศิลาแลง ส่วนด้านล่างก็มีเสาธรรมจักรอยู่


โบราณสถานบึงคอกช้างดิน คืออะไร?

แต่ก่อนบริเวณนี้เป็นดินแดนก่อนประวัติศาสตร์ทั้งนั้น ไม่ใช่แค่พุทธ มีทั้งฮินดูด้วย เริ่มจากวัดถ้ำเสือ รอบๆ เขาพุหางนาค จนถึงวัดเขาดีสลักเป็นเทือกเขาที่สัมพันธ์กัน แต่ละถ้ำมีพระสงฆ์ นักพรต ฤาษี เข้าไปจำศีล ถ้ำเหล่านี้เขาสร้างพระพิมพ์ เรียกว่า พระถ้ำเสือ ผมคิดว่าน่าจะเป็นพระพิมพ์รุ่นแรกๆ รูปร่างหน้าตาน่าเกลียด แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงความเก่าแก่ มีทั้งนั่งขัดสมาธิ นั่งเก้าอี้ ผสมปนเปกันไป เราจะไม่พบกันทั่วๆ ไป สะท้อนให้เห็นถึงว่าเคยมีพระสงฆ์หรือนักพรตอยู่บริเวณนั้น เชิงเขารอบๆ นั้น ตรงเขตถ้ำเสือบริเวณคอกช้างดินนั้น พบแหล่งศาสนสถานของฮินดู เพราะมันเป็นวิหาร? แต่ไม่ใช่เจดีย์ ทำด้วยหินกรวด ขณะเดียวกัน พบทางน้ำ ที่ใช้แนวหินบีบเข้าสู่คอกช้าง มันมี 2-3 คอกช้าง ลักษณะคอกช้าง เข้าใจว่า เป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า บาราย เป็นภาษาสันสกฤตที่ว่า ยกขึ้นมาแล้วเก็บน้ำไว้บนผิวดิน เพราะบริเวณอู่ทองนี้เป็นที่แล้งน้ำ จำเป็นจะต้องมีสิ่งเหล่านี้ ในบริเวณรอบๆ อู่ทอง เราค้นพบว่ามีการทำคันดิน ทั้งชะลอน้ำ แยกน้ำ แบ่งน้ำ หลายๆ แห่งสะท้อนให้เห็นว่ามีการชะลอน้ำเพื่อการทำนา ในที่ลุ่ม แล้วก็เห็นว่าบริเวณ 5-6 กิโลเมตรรอบๆ อู่ทอง มีการตั้งถิ่นฐานอยู่มาก

จริงหรือ? เจดีย์ที่พบที่อู่ทอง น่าจะเก่ากว่าเจดีย์ที่นครปฐม

มันมีทั้งเก่ากว่า และร่วมสมัย และหลังลงมา มันไม่ได้สลายไป แต่ต้องตรวจสอบดู เราต้องมองเห็นว่า เสาธรรมจักร, ลายปูนปั้น น่ะมันเป็นของเก่า แต่มาจากที่ตรงไหนก็ไม่รู้ อีกอันเป็นรูปพระสงฆ์ 3 องค์, อีกอันเป็นลายเทวดาเหาะ แสดงว่าเหล่านั้นได้รับอิทธิพลจากอมราวดีมากกว่า ไม่ได้มาจากทางลุ่มน้ำคงคา


รอยพระพุทธบาทที่เขาดีสลัก น่าสนใจอย่างไร?

นั่นแสดงการสืบเนื่องของชุมชนที่อยู่ตรงนั้น ที่มีการนับถือพุทธศาสนา เพราะที่เราเคยเห็นก่อนหน้านั้นมักจะไม่มีมงคล 108 ประการ อย่างที่ปราจีนบุรีก็มีรอยพระพุทธบาทรุ่นแรกๆ คล้ายกับอมราวดี ที่นี่มันเห็นภาพหลายอย่าง เช่น ความโดดเด่นของพุทธบัญญัติ ซึ่งธรรมจักรเนี่ยะ หรือกวางหมอบเป็นศิลปอัตลักษณ์แบบทวารวดี มี 2 อย่างคือ ธรรมจักรแบบกวางหมอบ กับ พระพุทธรูปเหนือพนัสบดี จริงๆ แล้ว คือพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่อาศัยสัตว์เนรมิต เชื่อมสวรรค์กับโลก เป็นความคิดริเริ่มที่ดี ที่อู่ทองมีเยอะมากที่เป็นหลักฐาน โดยเฉพาะลูกปัดมีอยู่มาก แสดงว่ามันมีมามากกว่าที่อื่น แต่เสียดายที่ถูกทำลายลงไป ถ้ามีการศึกษาเอามาเทียบกันจะทำความเข้าใจได้ง่าย แต่ที่อู่ทองนี่ระยะหลังมันมีการติดต่อกับเวียดนาม ถึงยุคนั้น ยุคที่พบลิงลิงโอ มันเป็นยุคก่อนจะมีเส้นทางการค้านะ เพราะพวกลิงลิงโอ กลุ่มที่นำมาเป็นพวกซาร์วิน ที่อยู่ตอนกลางของเวียดนาม ก่อนที่จีนจะทำการค้าขาย อู่ทองมีเครือข่ายอยู่มาก ดังนั้น อู่ทองเป็นร่วมสมัยฟูนัน ยุคพุทธศตวรรษที่ 13-14 จึงจะพบมหายานขึ้น

ทำไมเมืองอู่ทองถึงหายไปได้?

เมืองอู่ทองไม่ได้หายไปไหน แต่มันไม่มีคนอนุรักษ์ เพราะการอนุรักษ์สมัยก่อนเก็บไว้แต่ในตัวเมือง ส่วนบริเวณรอบๆ ไม่มีการขุดสำรวจ จริงๆ มันกระจายไปทั่ว การที่จะเป็นนครใหญ่ไม่ใช่เฉพาะตัวเมือง ภาษาอินเดียเรียกว่า นครา ตัวเมืองเป็นปุระ รอบๆ เป็นรัศมีกว้าง ถึงได้กินพื้นที่คอกช้างและที่อื่นๆ แล้วความสัมพันธ์ก็ไปเห็นที่ดอนตาเพชร ที่จริงอู่ทองเป็นแหล่งที่มีของป่า และแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุมาก โดยเฉพาะบ่อพลอยมีเยอะมาก เพราะที่ตรงนั้นเป็นเมืองท่า

จับเข่าคุย "ศรีศักร วัลลิโภดม"

วัดเขาทำเทียม.. อู่ทอง ... วัดแห่งแรก.. ในประเทศไทย

การเดินทางไปอินเดียเพื่อศึกษาแก่นแท้พุทธศาสนาของพระถังซำจั๋งในพุทธศตวรรษที่ 12 ท่านได้บันทึกสิ่งที่พบเห็นตลอดการเดินทางในช่วงเวลานั้นไว้อย่างละเอียด บันทึกการเดินทางเล่มนั้นมีความสำคัญยิ่งยวดต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดีของพุทธศาสนาในอินเดียมาจนทุกวันนี้ อ่านต่อ

อู่ทอง เมืองโบราณ..แห่งสุวรรณทวีป

สำหรับความเป็นมาของอู่ทอง....หัวใจแห่งสุวรรณภูมินั้นเกิดขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 4 อินเดียมีพระมหาราชที่ยิ่งใหญ่ พระนามว่า พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาของโลก ได้ส่งสมณทูตไปเผยแพร่ในภูมิภาคต่างๆ ทั้งทางบกทางทะเล และหนึ่งในสมณทูตเหล่านั้น คือ พระโสณะและพระอุตระ ที่เข้ามาสุวรรณภูมิทางทะเล ซึ่งบริเวณที่เข้ามานั้น จากหลักฐานทางโบราณคดีและตำแหน่งภูมิศาสตร์น่าจะอยู่บริเวณที่เรียกว่า แหลมทอง ที่ตั้งอยู่ในคาบสมุทรไทยต่อคาบสมุทรมลายู ซึ่งก็คือ บริเวณตอนเหนือของคาบสมุทรมลายู ตั้งแต่จังหวัดปัตตานีขึ้นมาจนถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาของประเทศไทยนั่นเอง

ทั้งนี้ ด้วยลักษณะของเมืองอู่ทอง อาทิ ที่ตั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่ค้นพบ ทำให้อาจารย์ศรีศักร สันนิษฐานว่า จากหลักฐานการบันทึกของนักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์หลายคนทำให้คิดเลยเถิดไปว่า เส้นทางคมนาคมข้ามคาบสมุทรนี้แหละที่สมณทูตของพระเจ้าอโศกมหาราชเดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในเขตสุวรรรภูมิ ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่พม่า-มอญ เชื่อว่ามาขึ้นที่เมืองสะเทิมและหงสาวดีของมอญอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่พบเห็นโบราณวัตถุใดในเขตเมืองสะเทิมและเมืองเมาะตะมะที่มีอายุเท่ากันกับพบที่ดอนตาเพชรและอู่ทอง อีกทั้งตำแหน่งเมืองมอญของพม่านี้ก็อยู่เหนือขึ้นมาจากเส้นทางเดินเรือทะเลที่จะต้องข้ามคาบสมุทร ยิ่งดูไปถึงเรื่องหลักฐานของวัฒนธรรม ที่สืบเนื่องจากสุวรรณภูมิมาจนถึงยุคต้นประวัติศาสตร์เช่นสมัยศรีเกษตรและทวารวดีแล้ว ก็ไม่พบอะไรต่างกับทางบริเวณเมืองอู่ทองและเมืองอื่นๆ ในฝั่งอ่าวไทยที่พบคติในการสร้างธรรมจักรที่มีรูปกวางหมอบต่อเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ 12-13 ทีเดียว แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือเมืองอู่ทอง พบแท่งศิลาจารึกภาษาสันสกฤตว่า ปุษยคีรี เข้าใจว่าพบแถวเขาที่อยู่ทางทิศเหนือของเมือง ซึ่งคำว่าปุษยคีรี นี้เป็นชื่อเมืองและสถานที่ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชโปรดให้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าในอินเดียอีกด้วย

ปัจจุบันโบราณวัตถุที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมอันยาวนานนั้นได้ถูกเก็บรักษาและเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี สถานที่สำคัญที่คนรุ่นหลังสามารถที่จะเข้าไปศึกษาเรียนรู้เรื่องราวในอดีตผ่านข้าวของเครื่องใช้เก่าๆ ที่ได้ผ่านกาลเวลามาพร้อมๆ กับความมีชีวิต ของอู่ทอง เมืองโบราณที่ทำให้เกิดการค้นหาความหมายของอดีตแม้ว่างานวิจัยจะสิ้นสุดลงแต่ทว่าสำหรับคนรุ่นหลังแล้วยังคงต้องมีการคำถามที่จะต้องเรียนรู้หาคำตอบกันต่อไป เพราะอู่ทองเป็นเมืองโบราณที่มีชีวิตและความเคลื่อนไหวของผู้คน มิใช่เพียงแค่ชื่อในตำนาน...

อู่ทอง เมืองโบราณ..แห่งสุวรรณทวีป

เปิดม่านประวัติศาสตร์ วงศ์อู่ทอง-วงศ์สุพรรณบุรี ผ่านบันทึกร่วมสมัยของจีน
ดร.ปริวรรต สาคร

ราชวงศ์สุพรรณบุรี เป็นใคร มาจากไหน ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้อย่างไร
ดร.ปริวรรต สาคร

เมืองโบราณอู่ทองตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจรเข้สามพัน มีลักษณะเป็นรูปวงรีขนาด 1,850 x 820 เมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ทิศตะวันตกเป็นเขารางกะปิด เขาคำเทียม และเขาพระ ทิศตะวันออกเป็นที่ราบกักเก็บน้ำ นอกเมืองมีแนวคันดินเป็นถนนโบราณเรียกว่า "ถนนท้าวอู่ทอง" และแนวคันดินรูปเกือกม้าเรียกว่า "คอกช้างดิน" คงจะเป็นเพนียดคล้องช้างโบราณหรือสระเก็บน้ำในศาสนาพราหมณ์

เมืองโบราณแห่งนี้มีร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชนตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ตอนปลาย 2,500-2,000 ปีมาแล้ว โดยพบเครื่องมือหินขัด ภาชนะดินเผา แวปั่นด้ายดินเผา เป็นต้น ต่อมาชุมชนแห่งนี้ได้พัฒนาตนเองไปสู่สังคมเมืองสมัยประวัติศาสตร์ในราวพุทธศตวรรษที่ 5-9 ทำการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ เช่น เวียดนาม จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป มีบทบาทเป็นศูนย์กลางทางการค้าและเมืองท่าร่วมสมัยกับเมืองออกแก้ว (ทางภาคใต้ของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) ได้พบลูกปัดแก้ว เหรียญกษาปณ์ เหรียญโรมันสมัยจักรพรรดิวิกโตรีนุส เป็นต้น อู่ทองได้รับรูปแบบทางศาสนาและศิลปกรรมแบบอมราวดีจากอินเดีย ได้พบปฏิมากรรมดินเผารูปพระสงฆ์ 3 รูปอุ้มบาตร และพระพุทธรูปปั้นนาคปรกศิลปะแบบอมราวดี เป็นต้น ศาสตราจารย์ชอง บวสลีเย เชื่อว่าเมืองอู่ทองน่าจะเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรสุวรรณภูมิที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงส่งพระสมณทูตเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาเมื่อ พ.ศ. 270-311 นายพอล วิตลีย์เชื่อว่า เมืองจินหลินตั้งอยู่ที่เมืองอู่ทอง เป็นรัฐสุดท้ายที่พระเจ้าฟันมันแห่งอาณาจักรฟูนันปราบได้ในพุทธศตวรรษที่ 9

เมื่ออาณาจักรฟูนันสลายลงในปลายพุทธศตวรรษที่ 11 รัฐทวารวดีได้เจริญขึ้นมาแทนที่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างและรุ่งเรืองสูงสุดในราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 โดยมีบันทึกของพระภิกษุเหี้ยนจังได้กล่าวถึงอาณาจักรโตโลโปตี้ (หมายถึง "ทวารวดี") และได้พบเหรียญเงินจารึกว่า "ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณฺยะ" เป็นการยืนยันการมีตัวตนของอาณาจักรทวารวดี โดยมีเมืองอู่ทองเป็นเมืองหลวงและเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ วัฒนธรรมทวารวดี ประชาชนนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นหลัก ใช้ภาษามอญ ยึดคติทางศาสนารูปแบบศิลปะคุปตะจากอินเดีย โบราณสถานโบราณวัตถุที่พบในเมืองอู่ทองเป็นศิลปกรรมในสมัยทวารวดี เช่น เศียรพระพุทธรูปทองคำ เจดีย์ พระพุทธรูปปางประทานธรรมจักร ในขณะเดียวกันศิลปะศรีวิชัยซึ่งนับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายานก็ได้เผยแพร่เข้ามา โดยได้พบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและพระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ

เมืองอู่ทองได้หมดความสำคัญและร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 16 จึงรอดพ้นจากอิทธิพลเขมรที่เข้ามามีอำนาจมากในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในรัชสมัยของกษัตริย์ขอมนักสร้างผู้ยิ่งใหญ่ คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยปรากฏเมืองโบราณสุพรรณบุรีเจริญขึ้นมาแทนที่

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดิน แบ่งหัวเมืองต่าง ๆ ออกเป็นมณฑล เมือง อำเภอ และตำบล อำเภออู่ทองจึงเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448 โดยมีชื่อเมื่อแรกตั้งว่า อำเภอจรเข้สามพัน แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 ตำบล ต่อมาทางราชการได้พิจารณาเห็นว่า ท้องที่อำเภอจรเข้สามพันเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณที่เรียกว่า "เมืองท้าวอู่ทอง" จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากหมู่บ้านจรเข้สามพันมาตั้ง ณ บริเวณเมืองโบราณท้าวอู่ทอง และให้เปลี่ยนชื่ออำเภอจรเข้สามพันเป็น อำเภออู่ทอง เพื่อให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482


ที่มา : ข้อมูลอำเภออู่ทอง
จารึกปุษยคีรี

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) อพท.
Designated Areas for Sustainable Tourism Administration (Public Organization) DASTA

อพท. เป็นองค์การมหาชน มีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในการประสานงานให้เกิดการบูรณาการการบริหารการพัฒนาพื้นที่ที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่า โดยมีความคล่องตัวและรวดเร็วในการดำเนินงานมากกว่าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการบริหารการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาว จัดตั้งขึ้นตามความในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๖

สอบถามข้อมูล ฝ่ายอำนวยการ  035 565 562  (ชมพู่ บอล แพท กิ๊ก)
สอบถามข้อมูล ฝ่ายบริหารแผนและประสานงาน 035 565 563 (ฟิก เดี่ยว แมน กิ้ง ตั๊ก ฝ้าย กวาง)









โพสต์ข่าวแนะนำ

พล.ต.ท.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผบช.ภ.1 เข้าอวยพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ แด่ ดร.นฤมล สุรเศรษฐ ประธานกรรมการ L.S.Jewelry Group

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์ พล.ต.ท.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผบช.ภ.1 เข้าอวยพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ แด่ ดร.นฤมล สุรเศรษฐ ประธานกรรมการ L.S.Jew...

ข่าวดัง ยอดนิยม คนสนใจ