สดร. ชวนคนไทยชมปรากฎการณ์ “จันทรุปราคาเต็มดวง” ครั้งแรกของปี วันที่ 31 ม.ค


สดร. ชวนคนไทยชมปรากฎการณ์ จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกของปี วันที่ 31 ม.ค. สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่านานกว่าชั่วโมงได้ทุกพื้นที่ของประเทศ
  
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สดร.) ชวนคนไทยชมปรากฎการณ์ จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกของปี วันที่ 31 มกราคมนี้ สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่านานกว่าชั่วโมงได้ทุกพื้นที่ของประเทศ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.51 - 21.07 น. ทางทิศตะวันออก
นายศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กล่าวว่า วันที่ 31 มกราคม จะเกิดปรากฏการณ์ จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกของปีนี้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.51 - 21.07 น. จะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงนาน 1 ชั่วโมง 16 นาที สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศทางทิศตะวันออกในช่วงหัวค่ำ ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.30 น. เป็นต้นไป ที่ตรงกับช่วงที่ดวงจันทร์โคจรอยู่ใกล้โลก จะมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฎใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย โดยดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 17.51 น. จากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 18.48 น. และเข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่เวลา 19.51 น. ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกเต็มดวงจะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐทั้งดวง เมื่อสิ้นสุดปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงหลังเวลา 21.07 น. ไปแล้ว ดวงจันทร์จะเริ่มออกจากเงามืดของโลกกลายเป็นจันทรุปราคาบางส่วนอีกครั้ง จนกระทั่งออกจากเงามืดของโลกหมดทั้งดวงในเวลา 22.11 น. แล้วเปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตเห็นได้ยาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์จากเงามัวของโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แล้วสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 23.08 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฎการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์ ทั้งนี้ ปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในไทยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กล่าวย้ำว่าปรากฎการณ์ดาราศาสตร์ในครั้งนี้สามารถเห็นได้หลายพื้นที่ทั่วโลก คือ ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปออสเตรเลีย ทวีปเอเชีย บริเวณตอนเหนือและตะวันออกของทวีปยุโรป ตอนเหนือและตะวันออกของทวีปแอฟริกา ตอนเหนือและตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ถือเป็นปรากฎการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปทีละน้อยจนดวงจันทร์เข้าไปอยู่เงามืดทั้งดวง แล้วจะเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก ช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกบางส่วนจะเรียกว่า จันทรุปราคาบางส่วนและช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง เรียกว่า จันทรุปราคาเต็มดวงจะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงเป็นสีแดงอิฐ เนื่องจากได้รับแสงสีแดงซึ่งเป็นคลื่นที่ยาวที่สุดหักเหผ่านบรรยากาศโลกไปกระทบกับดวงจันทร์

โพสต์ข่าวแนะนำ

สำนักงานหนังสือพิมพ์ทันใจนิวส์

วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 07.00 น.  โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จัดกิจกรรมตลาด Green Market @ CKP ณ บริเวณด้านหน้าธนาคารกรุงไทย อาคาร 72 พ...

ข่าวดัง ยอดนิยม คนสนใจ